ประเพณีลงข่วง : เป็นประเพณีของชาวไทยพวนที่อยู่ในอำเภอบ้านหมี่ คำว่า “ข่วง” หมายถึงที่โล่งแจ้งซึ่งกว้างพอสมควร พอจะมีที่สำหรับรวมคนได้ประมาณ 20 -– 30 คน เพื่อที่จะได้ร่วมกันทำงาน งานที่นำมาทำขณะลงข่วงนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเภทเบ็ดเตล็ด เช่น กรอฝ้าย(ทำเส้น) ทอผ้า ปั่นด้าย ตำข้าว ฝัดข้าว กระเทาะเปลือกถั่วลิสง(เตรียมไว้ปลูก)
ประเพณีลงข่วง จะเป็นการนัดหมายเพื่อนบ้านออกมาทำงานพร้อมกันและเป็นการพบปะสังสรรค์ของหนุ่มสาวชาวพวนอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งอยู่ในขอบเขตสายตาผู้ใหญ่ ส่วนมากจะมารวมกันเป็น ล้อง ๆ คำว่า “ล้อง” หมายถึง บ้านใกล้เคียงกัน เช่น ล้องบ้านด่าน ล้องบ้านเซิง ล้องบ้านใหญ่ เป็นต้น ก่อนการลงข่วงจะมีการเก็บหลัว (เศษไม้ใบไม้หรือฟืน) เพื่อนำมาก่อให้เกิดแสงสว่าง
พอตอนเย็นสาวจะเดินเก็บหลัวเพื่อเป็นการบอกให้หนุ่มทราบว่าวันนี้จะมีการลงข่วง
โดยเก็บหลัวมากองรวมไว้บริเวณที่จะลงข่วง แล้วขึ้นบ้านประกอบอาหารเพื่อรับประทารอาหารก่อนที่จะมาลงข่วงหลังรับประทารอาหารและอาบน้ำแต่งตัวเสร็จแล้วก็จะช่วยกันก่อกองไฟ
และนำงานที่จะทำลงมาจากบ้าน ช่วยกันทำอย่างสนุกสนาน จากนั้นหนุ่ม ๆ
ในละแวกบ้านก็จะเดินมาเที่ยวเป็นกลุ่ม ๆ การมาของหนุ่มอาจจะเป่าแคน เป่าขลุ่ย เป่าปาก
ร้องเพลง เป็นการให้เสียงล่วงหน้าเพื่อสาว ๆ จะได้เตรียมตัวต้อนรับ
โดยนำน้ำดื่มมาวางไว้บริเวณงาน หรืออาจมีขนมหวานมาวางไว้ให้ด้วย
หนุ่มที่สนใจสาวคนใดอาจจะแยกเป็นคู่ ๆ และจะมีบางกลุ่มร้องเพลง ร่วมคุยตลกขบขัน
เป็นที่น่าสนุกสนานจนถึงเวลาพอสมควร หนุ่มก็จะไปส่งสาวกลับบ้าน
แต่ในบางท้องที่การลงข่วงจะทำกันที่บ้านของสาวนั่นเอง