นับตั้งแต่อดีตในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ราษฎรได้ประสบปัญหาทั้งในเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมถึงปัญหาที่เกิดจากอุทกภัย ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทำให้สูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยราษฎรผู้ประสบปัญหาดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการศึกษาและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยพระราชทานเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้แก่ราษฎรของพระองค์ ซึ่งกรมชลประทานได้สนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 ใช้เวลาในการก่อสร้างเขื่อนเป็นเวลา 5 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 นับแต่นั้นเป็นต้นมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ยังประโยชน์แก่ราษฎรสมดังชื่อเขื่อนที่ได้ทรงพระราชทานนามที่มีความหมายว่า “เป็นเขื่อนเก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพ” โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และในลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างเต็มที่ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ชื่อโครงการ
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งอยู่ใน ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี บริเวณพิกัด E 722371 N 1643698 เป็นโครงการขนาดใหญ่ ตามพระราชดำริ
ลักษณะโครงการ
เป็นเขื่อนดินชนิดแกนดินเหนียว มีความยาว 4,860 เมตร สูง 36.50 เมตรมีอาคารระบายน้ำ 3 อาคาร คือ
1. Spillway Characteristic(อาคารระบายน้ำล้น)
2. River Outlet( อาคารท่อบายน้ำลงลำน้ำเดิม)
3. Auxiliary Outlet(อาคารท่อระบายน้ำฉุกเฉิน)
สามารถเก็บกักน้ำได้ที่ระดับปกติ + 42.00 เมตร รทก. ปริมาณน้ำ 785 ล้าน ลบม. ที่ระดับเก็บกักสูงสุด อยุ่ที่ + 43.00 เมตร ปริมาณ 960 ล้าน ลบม. ลุ่มน้ำหลักคือลุ่มน้ำป่าสัก พื้นที่โครงการ มีพื้นที่ 288,619 ไร มีพื้นที่ชลประทาน 174,500 ไร่
ที่ตั้งของโครงการฯ
ที่ตั้ง ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี และ ตำบลคำพราน อ.วังม่วง จ.สระบุรี เป็นเขื่อนดินชนิดมีแกนดินเหนียว ยาว 4,860 เมตร สูง 31.50 เมตร ระดับน้ำกักเก็บสูงสุด + 43.00 ม.รทก. เก็บน้ำได้ 960 ล้าน / ลบ.ม.
พื้นที่ของโครงการฯ
พื้นที่โครงการมี 105,300 ไร่ มีรายละเอียดดังนี้
- จังหวัดลพบุรี 96,658 ไร่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง อำเภอชัยบาดาล รวม 13 ตำบล 60 หมู่บ้าน
- จังหวัดสระบุรี 8,642 ไร่ 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังม่วง รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน รวม 2 จังหวัด 4 อำเภอ 1 5 ตำบล 65 หมู่บ้าน
ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก
เนื่องจากเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก ก่อสร้าง ณ บริเวณทุ่งราบภาคกลาง จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน สิ่งปลูกสร้าง สาธารณะ และสิ่งแวดล้อม เป็นจำนวนมาก กล่าวโดยสรุปคือ ทางด้านประชาชน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ 114,119 ไร่ แต่มีพื้นที่ของราษฎรได้รับผลกระทบอันเป็นเหตุให้ต้องมีการโยกย้าย 100,944 ไร่ ในเขต 2 จังหวัด 4 อำเภอ 15 ตำบล 65 หมู่บ้าน รวมประชาชนประมาณ 7,700 ครอบครัว และมีพื้นที่ที่จะต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดิน 96,700 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
- อำเภอพัฒนานิคม : ตำบลโคกสลุง ตำบลน้ำสุด ตำบลมะนาวหวาน ตำบล หนองบัว
- อำเภอท่าหลวง : ตำบลท่าหลวง ตำบลแก่งผักกูด
- อำเภอชัยบาดาล : ตำบลบัวชุม ตำบลลำนารายณ์ ตำบลท่ามะนาว ตำบล ท่าดินดำ ตำบลชัยบาดาล ตำบลมะกอกหวาน ตำบล ม่วงค่อม
จังหวัดสระบุรี พื้นที่ 8,642 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 1 อำเภอ 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ได้แก่
- อำเภอวังม่วง : ตำบลวังม่วง ตำบลคำพราน
ทางด้านสิ่งปลูกสร้างสาธารณะ มีเส้นทางหลวงถูกน้ำท่วม 2 สาย รวมเป็นระยะทาง 8.335 กม. ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 205 ตอนอำเภอชัยบาดาล-อำเภอลำสนธิ (แยกทางหลวงหมายเลข 21-อำเภอชัยบาดาล) และทางหลวงหมายเลข 2256 ตอนอำเภอชัยบาดาล-อำเภอด่านขุนทด นอกจากนั้นยังมี เส้นทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสถานีแก่งเสือเต้น-สถานีสุรนารายณ์ ในเส้นทางสายแก่งคอย-บัวใหญ่ ระยะทางประมาณ 24.325 กม. ก็จะถูกน้ำท่วมเช่นกัน อีกทั้งมีสถานที่สำคัญอื่น ๆ ได้รับผลกระทบด้วย ได้แก่ โรงเรียนถูกน้ำท่วม 14 แห่ง วัด 24 แห่ง ส่วนราชการ 23 แห่ง และธุรกิจเอกชน 7 แห่ง
ทางด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดี 33 แหล่ง และวัฒนธรรมชุมชนไทยเบิ้ง รวมทั้งพื้นที่ป่าไม้ซึ่งมีไม้ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่ 53,382 ไร่
จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ส่วนราชการต่าง ๆ จำเป็นต้องเข้ามาร่วมวางแผน และกำหนดแนวทางในการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งต้องประสานแผนงานทุกด้านให้สอดคล้องต้องกัน จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พร้อมใจกันให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป่าสัก ที่รวมกลุ่มไปจัดตั้งชุมชนใหม่ โดยจัดให้บริการสาธารณูปโภค ด้านไฟฟ้า ถนน น้ำประปา ตลอดจนได้สร้าง วัด โรงเรียน สถานีอนามัย สถานีตำรวจ ทดแทนของเดิมให้กับพื้นที่ชุมชนใหม่ พร้อมกับจัดการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ทั้งการเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมในครัวเรือน อาทิ สอนการแปรรูปอาหารและถนอมอาหาร การทำดอกไม้จันทน์และดอกไม้ประดิษฐ์จากเปลือกข้าวโพด และการทอผ้าด้วยกี่กระตุก เป็นต้น นับเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
ประโยชน์ของเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก
1. เป็นแหล่งสำหรับอุปโภคบริโภคของชุมชนต่าง ๆ
ในเขตจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี (ลำนารายณ์พัฒนานิคม วังม่วง แก่งคอย และชุมชนขนาดย่อมใกล้เคียง)
2. เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรในพื้นที่ชลประทานที่จะเกิดขึ้นใหม่ในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี 135,5000 ไร่ (แก่งคอย-บ้านหมอ 80,000 ไร่ ,พัฒนานิคม 35,500 ไร่ และพัฒนานิคม-แก่งคอย 20,000 ไร่)
3. เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับพื้นที่โครงการชลประทานเดิม ในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เนื้อที่ประมาณ 2,200,000 ไร่ (ทำให้ลดการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยานำน้ำจากแม่น้ำป่าสักไปใช้ในแถบจังหวัดลพบุรีและสระบุรีโดยตรง)
4. ช่วยป้องกันอุทกภัยให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรีและยังมีผลช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย
5. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี
6. อ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้นจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่
7. ช่วยการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำป่าสักตอนล่าง และการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย
8. เป็นแหล่งน้ำช่วยเสริมเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
9. เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
10. ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรีขยายตัวมากขึ้น
เป็นที่น่าปลาบปลื้มที่พระองค์ทรงเป็นห่วงพสกนิกรชาวจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียงถึงประโยชน์ที่ราษฎรของพระองค์จะได้รับจากโครงการนี้ ณ พื้นที่ซึ่งเคยปรากฏความแห้งแล้ง สลับภาวะน้ำท่วม อันส่งผลให้ประชาชนต้องมีชีวิตอยู่อย่างลำบากทุกข์ยาก บัดนี้ ได้มีเขื่อนดินขนาดใหญ่ซึ่งมีความสูงกว่า 31 ม. และยาวเกือบ 5,000 ม. มาตั้งเป็นแนวกั้นน้ำอยู่ในแม่น้ำป่าสัก พร้อมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความจุน้ำได้สูงสุดถึง 960 ล้าน ลบ.ม. เพื่อนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่พื้นที่ที่เคยประสบความแห้งแล้ง โดยมีอาคารพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นสถานที่จัดแสดงสภาพชีวิตผู้คนในอดีตที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักแห่งนี้ สำหรับให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาร่องรอยแห่งอารยธรรม ไว้เตือนจำและเตือนใจคนในรุ่นปัจจุบัน และในอนาคตมิให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป